Monday, December 10, 2007

โลกร้อนกับทิศทางหลังพิธีสารเกียวโต

โลกร้อนกับทิศทางหลังพิธีสารเกียวโต โลกร้อนกับทิศทางหลังพิธีสารเกียวโต โลกร้อนกับทิศทางหลังพิธีสารเกียวโต
แม้ภัยจากโลกร้อนจะชัดเจนขึ้นทุกวัน ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นตัวการหลักก่อให้เกิดก๊าซเรือนกระจก
แต่ดูเหมือนการหาทางออกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเป็นปัญหาทางการเมือง เพราะมีความกังวลถึงผลกระทบที่อาจมีต่อสภาพเศรษฐกิจ
เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย สกว. ได้จัดประชุมนำเสนอผลการศึกษาวิจัยเรื่อง "พิธีสารโตเกียว" ซึ่งนักวิจัยของโครงการนี้ประกอบด้วย รศ.ดร.นฤมล สุธรรมกิจ และ ดร.ชโลทร แก่นสันติสุข จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในรายงานการศึกษามีการนำเสนอประเด็นทิศทางของการแก้ไขปัญหาโลกร้อนในเวทีนานาชาติว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะข้อตกลงภายหลังปี 2555 ที่พิธีสารเกียวโตสิ้นสุดลง
รศ.ดร.นฤมล ระบุว่า นักวิชาการหลายหน่วยงานพยายามที่จะคาดการณ์ว่าในอนาคต แนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนมีความเป็นไปได้ถึง 3 แนวทาง คือ แนวทางแรกดำเนินกิจการไปตามปกติ เมื่อการแก้ไขปัญหาโลกร้อนยุติลงในปี 2555 เศรษฐกิจโลกจะหันมาใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากปิโตรเลียมอีกครั้ง ปริมาณการสะสมก๊าซเรือนกระจกจะเพิ่มขึ้น จนปี 2563 อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นอีก 2 องศาเซลเซียส นั่นหมายความว่าเวลานั้นความพยายามแก้ปัญหาก็จะไม่สำเร็จ และอุณหภูมิโลกจะขยับขึ้นสูงอีก 4.5 องศาฯ ในปี 2643 ซึ่งส่งผลให้สิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของคนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างที่ไม่คาดคิด
แนวทางที่สองเป็นแนวทางอนุรักษ์นิยม คือ ทั้งภาครัฐและเอกชนแก้ปัญหาโลกร้อนภายใต้เงื่อนไขที่ต้องการคงการเติบโตทางเศรษฐกิจให้เหมือนเดิม เทคโนโลยีที่ใช้อาจเหมือนเดิม มีปรับปรุงเทคนิคเล็กน้อยเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ใช้พลังงานชีวมวลมากขึ้น ใช้พลังน้ำผลิตไฟฟ้า ใช้ถ่านหินโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ติดตั้งอุปกรณ์ดักก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเหมือนเดิมหรือไม่ลดลงจากเดิมนัก อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นช้ากว่าแนวทางแรก
แนวทางที่สามเป็นการแก้ปัญหาอย่างยุติธรรม ประเทศพัฒนาแล้วมุ่งมั่นที่จะช่วยโลกลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยให้เงินทุนสนับสนุนกิจกรรมที่ลดการปล่อยก๊าซแก่ประเทศที่กำลังสร้างเนื้อสร้างตัวจากการเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองและเศรษฐกิจ และให้เงินทุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับตัวต่อภาวะโลกร้อน ขณะที่ประเทศต่างๆ ใช้มาตรการภายในประเทศเพื่อรณรงค์การใช้พลังงานหมุนเวียน และปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน รวมทั้งยกเลิกการใช้ถ่านหิน จนอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นต่ำกว่า 2 องศาฯ รัฐบาลต้องมีบทบาทมากในการกำกับดูแลหรือกำหนดมาตรการที่เข้มงวด
"ข้อเสนอในการเจรจาของพิธีสารเกียวโตน่าจะดำเนินต่อไป และขยายช่วงเวลาของพันธกรณีออกเป็นระยะสั้นและระยะยาว อาจยาวถึงปี 2573 หรือ 2593 ทีเดียว ประเด็นในการเจรจามีแนวโน้มจะผนวก 2 เรื่องเข้าด้วยกัน คือ มาตรการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมาตรการปรับตัวตามสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งสองเรื่องประเทศพัฒนาแล้วต้องเป็นผู้นำสร้างความไว้วางใจให้ประเทศกำลังพัฒนาว่าจะไม่ทอดทิ้งและช่วยแก้ปัญหา"
เธอยังบอกอีกว่า ประเทศพัฒนาแล้วควรสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้มากกว่าที่ผ่านมา เช่น สหภาพยุโรปเสนอตัวจะลดการปล่อยก๊าซลงอีกร้อยละ 20 ในปี 2563 หรือสหรัฐอเมริกาควรจะเข้าร่วมในพิธีสารเกียวโต
ขณะที่ ดร.ชโลทร นักวิจัยอีกคนหนึ่งเผยผลการศึกษาที่ระบุว่า ความช่วยเหลือที่มาจากประเทศพัฒนาแล้ว จะเป็นจริงเพียงใดขึ้นกับการเจรจาในเวทีของ COP/MOP และการเข้าร่วมของสหรัฐและออสเตรเลีย รวมถึงการต่อรองระหว่างสหรัฐกับรัสเซีย ในฐานะประเทศกลุ่มภาคผนวก 1 ถ้าสหรัฐลงนามในพิธีสารเกียวโต และระหว่างสหรัฐกับจีน ในฐานะประเทศกลุ่มภาคผนวก 1 และนอกภาคผนวก 1 เพราะในอดีตประเทศพัฒนาแล้วมักจะขยับตัวช้ากว่าที่ควรจะเป็น อ้างว่าประเทศกำลังพัฒนาอย่างเช่นจีน ก็ควรจะแสดงท่าทีในการลดการปล่อยก๊าซด้วย
สำหรับเหตุที่การลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศกำลังพัฒนาไม่ประสบความสำเร็จนัก ดร.ชโลทรวิเคราะห์ว่า ก๊าซเรือนกระจกที่เป็นผลพลอยได้จากการผลิตและการบริโภคสินค้าที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงาน และปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของการผลิตและการบริโภคสินค้าแต่ละชนิดย่อมไม่เหมือนกัน นอกจากนี้ แต่ละประเทศมีโครงสร้างการผลิตและการบริโภคแตกต่างกัน การตั้งเป้าหมายให้แต่ละประเทศลดการปล่อยก๊าซแบบองค์รวมอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่เหมาะสมและยากแก่การตรวจสอบ อาจเป็นไปได้ว่า เป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจะเปลี่ยนเป็นการตั้งค่าในระดับภาคเศรษฐกิจมากกว่าระดับประเทศ ซึ่งแต่ละภาคเศรษฐกิจจะมีค่าเป้าหมายไม่เท่ากันข้อเสนอนี้อาจประยุกต์ใช้ได้ทั้งประเทศพัฒนาแล้ว และกำลังพัฒนา
ส่วนประเด็นการเจรจาของ COP/MOP ณ บาหลี ประเทศอินโดนีเซีย ผลการศึกษาวิจัยของทั้งสองเสนอว่าน่าจะเกี่ยวกับการหาเงินทุนและการสร้างสิ่งจูงใจสำหรับเทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสภาพภูมิอากาศ ให้ประเทศพัฒนาแล้วเป็นผู้นำ และให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะการจัดทำมาตรการในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกับมาตรการแก้ปัญหายากจนควรจะอยู่ในแผนเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งหรือเป็นอุปสรรค นอกจากนี้ คาดว่าจะมีการทบทวนเกณฑ์การกำหนดเป้าหมายก๊าซเรือนกระจกของแต่ละประเทศ เช่น มีการเสนอให้ใช้ปริมาณคาร์บอนต่อหัวต่อปีแทนปริมาณรวมคาร์บอนต่อปี รวมทั้งการทบทวนบทบาทของตลาดคาร์บอน และความยืดหยุ่นของกลไก โดยให้ประเทศกำลังพัฒนาเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น
มีการเจรจาทบทวนพันธะร่วมกันในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน รวมทั้งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาด้วย โดยยึดหลักความรับผิดชอบต่างกันและความสามารถในการแข่งขันของทั้งสองกลุ่มในรายงานการศึกษาวิจัยเรื่องพิธีสารโตเกียว โครงการ MEAs สกว.ยังระบุประเด็นการเจรจาบนเวทีที่จะเกิดขึ้นอีกว่า มีความเป็นไปได้ที่ประเทศพัฒนาแล้วจะตั้งเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอีกร้อยละ 50 ของปี 2533 โดยการนำของสหภาพยุโรป นอร์เวย์และญี่ปุ่น ขณะที่ความจำเป็นในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์เพื่อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก เป็นอีกประด็นที่ต้องหยิบยกเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ให้แก่ทั่วโลกในการปรับตัว